เอกอัครราชทูตไทยนำคณะกระทรวงการต่างประเทศและภาคเอกชนไทยหารือหน่วยงานสำคัญโมซัมบิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับโมซัมบิก

เอกอัครราชทูตไทยนำคณะกระทรวงการต่างประเทศและภาคเอกชนไทยหารือหน่วยงานสำคัญโมซัมบิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับโมซัมบิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.ย. 2566

| 433 view
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต นำคณะอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา และภาคเอกชนไทย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนบริษัทผลิตไฟฟ้า EGCO บริษัทเภสัชกรรม Atlantic บริษัท VP Garment และบริษัท Boss Delight Manpower เข้าพบกับหน่วยงานสำคัญและภาคเอกชนโมซัมบิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับโมซัมบิก รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมนานาชาติ กรุงมาปูโต (FACIM) ประจำปี 2566 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงสินค้าไทยด้วย
 
ในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะนายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา และนายสรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติราชการ ณ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พบหารือกับนาย Jose Antonio Alberta Matsinha อธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือโมซัมบิก ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยกับโมซัมบิกในรูปแบบต่าง ๆ การสนับสนุนความร่วมมือแบบไตรภาคี การขยายผลโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน ตลอดจนการผลักดันบันทึกความเข้าใจ (MoU) ด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างสองประเทศ
 
เอกอัครราชทูตฯ ยังได้นำคณะภาคเอกชนไทยพบหารือกับนาย Silvino Augusto José Moreno รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ นาย Olegário dos Anjos Estevão Guilherme Banze รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ประธานสภาหอการค้าโมซัมบิก และสมาพันธ์สมาคมเศรษฐกิจโมซัมบิก (Confederation of Mozambique Economic Associations – CTA) เพื่อแนะนำภาคเอกชนไทยและเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในสาขาเครื่องจักรกลการเกษตร พลังงาน ยาและเครื่องมือแพทย์ สิ่งทอ และการเสริมสร้างศักยภาพแรงงาน โดยการหารือเป็นไปอย่างฉันมิตรและนำไปสู่การเจรจาเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนโมซัมบิกในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ