งานนิติกรณ์และการรับรองเอกสาร

งานนิติกรณ์และการรับรองเอกสาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ส.ค. 2563

| 3,319 view

งานด้านนิติกรณ์ (Legalization)  คือ การที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ และประทับตรารับรองความถูกต้องของเอกสารว่ามีสาระชอบด้วยกฎหมาย และรับรองว่าผู้ทำเอกสารมีอำนาจในการทำเอกสารหรือได้ลงลายมือชื่อในเอกสารนั้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยผู้ร้องจะต้องกรอกคำร้องขอนิติกรณ์ตามเอกสารแนบ

หน้าที่นี้ตามปกติในต่างประเทศเป็นเรื่องของ Notary Public เอกสารสำคัญที่จะนำไปใช้อ้างอิงในต่างประเทศ จะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ/สถานเอกอัครราชทูตเสมอจึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่เอกสารที่ทำในต่างประเทศหรือออกให้โดยทางการต่างประเทศ ต้องแปลเป็นภาษาไทยแล้วนำมาให้กระทรวงการต่างประเทศ/สถานเอกอัครราชทูต รับรองทางการไทยจึงจะยอมรับ
 
อัตราค่าธรรมเนียม 1,200 เมติกัลโมซัมบิก (MZN) ต่อ 1 ตราประทับ
โดยนำใบชำระผ่านธนาคาร BCI มายื่นต่อเจ้าหน้าที่ (ไม่รับชำระโดยเงินสด) โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
(ชื่อบัญชี) Account Name: Royal Thai Embassy
(ชื่อธนาคาร) Bank: BCI 
(เลขที่บัญชี ) CONTA/MZN: 15263832810005
(รหัสการโอนเงิน) IBAN: 000800005263832810583
 
 
การรับรองเอกสารมี 3 ประเภท (ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร พ.ศ.  2539) ดังนี้
 
1. การรับรองคำแปล (Seen at ....)
คือคำแปลของเอกสารภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ/หรือภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยและ/หรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เจ้าของภาษาเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย และรับรองคำแปลนั้นทั้งนี้ กระทรวงฯ จะรับรองคำแปลเฉพาะที่แปลจากเอกสารต้นฉบับที่ทางการไทยหรือทางการต่างประเทศออกให้ หรือรับรองให้เท่านั้น นอกจากนี้การแปลควรจะต้องให้คงรูปแบบให้มากที่สุด ครบถ้วน และถูกต้องในรายละเอียด รวมทั้งขอให้ผู้แปลลงนามรับรองคำแปลถูกต้อง และพิมพ์ชื่อสกุลอย่างชัดเจน โดยควรให้นักแปลอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาเป็นผู้แปลเพื่อความถูกต้อง และไม่ถูกปฏิเสธเพื่อนำไปใช้ในต่างประเทศ
 
2. การรับรองสำเนาถูกต้อง (Certified true copy)
สถานเอกอัครราชทูตฯ จะรับรองเฉพาะเอกสารที่ทางราชการไทยออกให้เท่านั้น
การยื่นเรื่องให้รับรองต้องมีเอกสารต้นฉบับพร้อมถ่ายสำเนาอีก 1 ชุด หากต้องมากกว่า 1 ชุด ก็สามารถกระทำได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมเพิ่ม
 
3. การรับรองลายมือชื่อบุคคล (Certified genuine signature)
สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถรับรองลายมือชื่อบุคคลที่มีฐานะเป็นเจ้าของเอกสารและ/หรือในฐานะผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลจะต้องเตรียมเอกสารมาเอง และต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ด้วยตนเอง พร้อมหลักฐานบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ถ้าเป็นบริษัทต้องนำหนังสือรับรองและตราประทับไปด้วย การรับรองลายมือชื่อลักษณะนี้ เช่น การรับรองลายมือชื่อบุคคลในหนังสือมอบอำนาจ เป็นต้น